วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

หลักสูตรสัมพันธ์วิชา


          หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum) เป็นหลักสูตรรายวิชาที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ แรกทีเดียวการแก้ไขข้อบกพร่องทำโดยการนำเอาเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาใช้ เช่น ให้ผู้เรียนร่วมในการวางแผนการเรียน และให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการท่องจำ เพื่อให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อบกพร่องของหลักสูตรที่เน้นเรื่องผู้สอนเป็นผู้สั่งการหรือจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอน แต่การปรับปรุงด้านเทคนิคการสอนไม่ได้ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่ว่า หลักสูตรรายวิชามีขอบเขตแคบเฉพาะวิชา และยังมีลักษณะแบ่งแยกเป็นส่วนย่อย ๆ อีกด้วย
         ในระยะต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขอีกโดยจัดให้มีความเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่าง ๆ ทำให้เกิดหลักสูตรสัมพันธ์วิชาขึ้น วิธีการเชื่อมโยงก็ทำทั้งในระดับความคิดและระดับโครงสร้างดังได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามหลักสูตรสัมพันธ์วิชาก็คือหลักสูตรรายวิชาอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง  แต่เป็นหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน มาเชื่อมโยงกันเข้าแล้วจัดสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน  วิธีการนี้อาศัยหลักความคิดของแฮร์บารตที่ว่าการที่จะเรียนรู้สิ่งใดได้ดีผู้เรียนจะต้องมีความสนใจเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียนและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนและสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นการนำเอาเนื้อหาของวิชาหนึ่งมาเชื่อมโยงกับอีกวิชาหนึ่งในการเรียนการสอน  ย่อมเป็นการส่งเสริมหลักความคิดดังกล่าวข้างต้น  ตัวอย่างเช่น การนำเอาเนื้อหาของวิชาภูมิศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย  เขมร  ลาว  และเวียดนาม  หรือนำเอาหลักเกณฑ์ของวิชาคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงเป็นเครื่องมือในการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
         สำหรับวิธีการที่ใช้ในการสัมพันธ์วิชา เท่าที่ปฏิบัติกันมามีอยู่ 3 วิธีคือ
         1. สัมพันธ์ในข้อเท็จจริง  กล่าวคือใช้ข้อเท็จจริงของวิชาส่วนหนึ่งมาช่วยประกอบการสอนอีกวิชาหนึ่ง เช่น เมื่อมีการศึกษาประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่งถ้าปรากฏว่ามีวรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนนั้นอยู่ด้วย  ก็นำเอาวรรณคดีนั้นมาศึกษาด้วยในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความเข้าใจแก่ผู้เรียนมากขึ้น ในทำนองเดียวกันอาจนำเอาข้อเท็จจริงของวิชาภูมิศาสตร์มาสอนให้ทราบถึงสาเหตุของสงคราม  หรือแสดงเส้นทางของกองทัพ  หรือแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศคู่สงครามก็ได้
         2. สัมพันธ์ในหลักเกณฑ์  การสร้างความสัมพันธ์วิธีนี้เป็นการนำเอาหลักเกณฑ์หรือแนวความคิดของวิชาหนึ่งไปใช้อธิบายเรื่องราวหรือแนวความคิดของอีกวิชาหนึ่ง  เช่น  สร้างความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงวิชาจิตวิทยากับสังคมวิทยาเข้าด้วยกัน โดยใช้หลักจิตวิทยาอธิบายเหตุการณ์ในสังคมในวิชาประวัติศาสตร์  เป็นต้นว่าใช้กฎการขาดความมั่นคงและการถดถอย (Frustration and Regression) แสดงให้เห็นว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้อาวุธเข้าทำร้ายประเทศเพื่อนบ้าน ก็เนื่องจากประชาชนในประเทศถูกกดดันมาเป็นเวลานาน ในทำนองเดียวกันกฎเกณฑ์ของวิชาวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ ก็อาจนำมาเชื่อมโยงกันได้
         การนำเอากฎเกณฑ์ของวิชาหนึ่งไปใช้กับอีกวิชาหนึ่ง ดังได้กล่าวมานี้ เป็นผลให้เกิดการหลอมวิชา (Fusion)  และเกิดหลักสูตรอีกแบบหนึ่งเรียกว่า หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum)
         3. สัมพันธ์ในแง่ศีลธรรมและหลักปฏิบัติในสังคม วิธีนี้คล้ายวิธีที่  2 แค่แตกต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะใช้หลักเกณฑ์หรือแนวความคิดเป็นตัวเชื่อมโยง กลับใช้หลักศีลธรรมและหลักปฏิบัติของสังคมเป็นเครื่องอ้างอิง ตัวอย่างเช่น อาจเชื่อมโยงแนวความคิดของผู้ประพันธ์วรรณคดี  ยุคหนึ่ง เข้ากับระบบการปกครองในยุคนั้นก็ได้ คือใช้วรรณคดีสะท้อนความคิดด้านการปกครอง ทำให้มองเห็นแนวความคิดได้เด่นชัดยิ่งขึ้น
         หลักสูตรสัมพันธ์วิชาที่ปรับปรุงขึ้นมาจากหลักสูตรรายวิชานี้  มีประโยชน์หลายอย่างที่สำคัญคือ  ช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น  ทำให้ผู้เรียนมองเห็นโปรแกรมการเรียนการสอนเป็นส่วนรวมชัดเจนขึ้น  ทำให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีมากขึ้นและกว้างขวางกว่าเดิมและเปิดทางให้สามารถขยายงานด้านตำราเรียนได้กว้างขวางขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องที่ยังแก้ไม่ได้ก็คือ  รูปแบบของหลักสูตรยังคงเป็นหลักสูตรรายวิชาอยู่นั่นเอง  ในปัจจุบันหลักสูตรสัมพันธ์วิชายังมีใช้ อยู่เพียงในบางประเทศที่ยังคงใช้หลักสูตรรายวิชาเป็นหลัก



อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.

หลักสูตรเกลียวสว่าน

         
          ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในระหว่างผู้จัดทำหลักสูตรด้วยกันเอง  ได้แก่  ข้อสงสัยที่ว่าทำไมจึงต้องจัดหัวข้อเนื้อหาในเรื่องเดียวกันซ้ำ ๆ กันอยู่เสมอในเกือบทุกระดับชั้น  แม้จะได้มีผู้พยายามกระทำตามความคิดที่จะจัดสรรเนื้อหาในแต่ละเรื่องหรือแต่ละหัวข้อให้จบในแต่ละระดับชั้น  แต่ในทางปฏิบัติและในข้อเท็จจริงยังกระทำไม่ได้  เนื่องจากว่าเนื้อหาหรือหัวข้อต่าง ๆ จะประกอบด้วยความกว้างและความลึก  ซึ่งมีความยากง่ายไปตามเรื่องรายละเอียดของเนื้อหา  นักพัฒนาหลักสูตรยอมรับในปรากฏการณ์นี้และเรียกการจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันไว้ในทุกระดับชั้นหรือหลายๆ ระดับชั้น  แต่มีรายละเอียดและความยากง่ายแตกต่างกันไปตามวัยของผู้เรียนว่า  หลักสูตรเกลียวสว่าน
         1. ความหมาย
         หลักสูตรเกลียวสว่าน หรือบันไดวน (Spiral Curriculum) หมายถึง การจัดเนื้อหาหรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น แต่มีความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้นๆ จะสอนในเรื่องง่ายๆ ตื้นๆ แล้งค่อยๆ เพิ่มความยากและความลึกลงไปเรื่อย ๆ ตามระดับชั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
         ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้  มีให้พบเห็นได้ในหลักสูตรทั่ว ๆ ไป  เช่นหลักสูตรประถมศึกษา  พุทธศักราช 2521  ของกระทรวงศึกษาธิการ  ในวิชาคณิตศาสตร์กำหนดให้เรียนเรื่อง การคูณ ทั้งในระดับชั้น ป.1  ป.2  ป.3-4  และ ป.5-6  แต่จะมีความยากและความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง  ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต  จะกำหนดให้นักเรียนเรียนเรื่อง พืช  ในทุกระดับชั้นจาก ป.1-6  โดยจะมีรายละเอียดมากขึ้น  และลึกลงเรื่อย ๆ
         2. ที่มาของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน
         บรูเนอร์  (Bruner, 1960)  เป็นนักการศึกษาท่านหนึ่งที่มีบทบาทมากในการเผยแพร่ความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน  บรูเนอร์มีความเชื่อว่า  ในเนื้อหาของแต่ละเนื้อหาวิชาจะมีโครงสร้างและการจัดระบบที่แน่นอน  จึงควรนำความจริงในข้อนี้มาใช้กับการจัดหลักสูตร  โดยการจัดลำดับเนื้อหาให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ  อย่างมีระบบ  จากง่ายไปหายาก  จากแนวความคิดนี้จึงมีการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะบันไดวน  หรือเกลียวสว่าน  คือให้ลึกและกว้างออกไปเรื่อย ๆ  ตามอายุและพัฒนาการของเด็ก
         การพัฒนาหลักสูตรควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความคิด  หรือหัวข้อเนื้อหาพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก  จนกว่านักเรียนได้เรียนรู้ความคิดรวมของเรื่องนั้น ๆ  บรูเนอร์เชื่อว่า  เราสามารถสอนเรื่องใด ๆ  ให้แก่นักเรียนที่มีอายุเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมเต็มที่  และเขาได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า  เป็นไปได้ที่จะสอนความคิดและตัวแปรต่าง ๆ ให้แก่เด็กได้ตั้งแต่เยาว์วัย  และไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้น ๆ
         จากการนำแนวความคิดของหลักสูตรเกลียวสว่านไปใช้กับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์  ฟรอสท์และโรแลนด์  (Frost and Roland,1969)  ได้ยืนยันว่า  หลักสูตรเกลียวสว่านช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอย่างมีลำดับขั้นตอนของโครงสร้างวิชาวิทยาศาสตร์บูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี  ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า  ไม่เพียงแต่มีการนำหัวข้อเนื้อหาเดียวกันมาศึกษาในระดับชั้นที่ต่อเนื่องกันเท่านั้น  แต่ยังมีการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยอีกด้วย  จึงสรุปได้ว่า  เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กกับนักวิชาการระดับสูงแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความเข้มเท่านั้น  ไม่ใช่ประเภทหรือชนิด
         3. หลักสูตรเกลียวสว่านตามแนวคิดของดิวอี้
         ดิวอี้  (Dewey, 1938)  มีแนวคิดเรื่องหลักสูตรสว่านแตกต่างไปจากบรูเนอร์ กล่าวคือ ดิวอี้  มีความเชื่อว่า การเจริญงอกงามขึ้นอยู่กับการฝึกใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าจากปัญหาที่กำหนดให้จากภายนอก  และในขณะที่ผู้เรียนฝึกใช้สติปัญญากับการแก้ปัญหาเหล่านี้  เขาจะได้ความคิดใหม่ๆ  และพลังในการทำงาน  ซึ่งจะเป็นฐานสำหรับแก้ปัญหาอื่น ๆอีกต่อไป  ในการปฏิบัติเช่นนั้นผู้เรียนจะเข้าใจถึงความสำคัญระหว่างกันของความรู้ในสาขาต่าง ๆ และการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในเชิงสังคมได้กว้างขวางขึ้น  กระบวนการจึงเป็นเสมือนเกลียวสว่านที่มีลักษณะต่อเนื่องและรับช่วงกันไป
         ดังนั้น  เกลียวสว่านของดิวอี้จึงไม่ได้เริ่มที่ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่เพียงประการเดียว  ซึ่งนอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาที่จัดไว้สำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่มองประสบการณ์ทางการศึกษาว่า  เป็นการขยายความสนใจและสมรรถภาพของผู้เรียนไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นและกว้างขึ้น  ดังนั้น  การเลือกเนื้อหาสาระที่จะต้องก้าวไปเรื่อย ๆ จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการเจริญงอกงามของประสบการณ์  ยกตัวอย่าง  เช่น  การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้น ดิวอี้ได้ยืนยันว่าไม่แต่การนำไปสู่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นเท่านั้น  แต่จะต้องนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาของสังคมในขอบข่ายที่กว้างขึ้นและที่ดีขึ้นด้วย  ในประเด็นนี้  จำเป็นต้องมีการสังเคราะห์หลักสูตรให้สมบูรณ์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน  ในแนวตั้ง  หมายถึง  การขยายความรู้ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไป  ส่วนแนวนอน  หมายถึง  ความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันของความรู้



อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.

หลักสูตรสูญ

         

          หลักสูตรสูญหรือ Null Curriculum เป็นความคิดและคำที่บัญญัติขึ้นโดยไอส์เนอร์ (Eisner,1979)แห่งมหาวิทยาลัยแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา หลักสูตรสูญ เป็นชื่อประเภทของสูตรที่ไม่แพร่หลาย และไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในระหว่างนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรด้วยกัน
         เขาได้นิยามหลักสูตรสูญว่า เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีปรากฏอยู่ให้เห็นในแผนการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน
         เขาได้อธิบายถึงความเชื่อของเขาในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวหลักสูตรและสิ่งที่ครูไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า ความรู้หรือการขาดสิ่งที่ควรจากรู้ไม่ได้เป็นแต่เพียงความว่างเปล่าที่หลายคนอาจคิดว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การขาดความรู้ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบที่สำคัญมาก ในแง่ที่ทำให้ผู้เรียนขาดทางเลือกที่เขาอาจนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของเขาได้ นั้นก็คือ  การขาดความรู้บางอย่างไปอาจทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งขาดความสมบูรณ์ได้
         นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หลักสูตรสูญได้แก่ ทางเลือกที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้เรียน ความคิดและทรรศนะที่ผู้เรียนไม่เคยสัมผัสและเรียนรู้สิ่งที่ผู้เรียนจะนำไปประยุกต์ใช้ได้แต่มีไว้ไม่พอ รวมทั้งความคิดและทักษะที่ไม่ได้รวมไว้ในกิจกรรมทางปัญญา
         1. ประเด็นที่ควรพิจารณา
         ในการกำหนดหลักสูตรสูญขึ้นมานั้นมีสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกได้แก่ กระบวนการทางปัญญา (Cognitive process) ที่โรงเรียนเน้นและละเลย ประเด็นที่สองได้แก่ เนื้อหาสาระที่มีอยู่และที่ขาดหายไปจากหลักสูตร
         ในประเด็นของกระบวนการทางปัญญานั้น ไอส์เนอร์ หมายถึง กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการรู้ โดยเริ่มจากการรับรู้สิ่งเร้าต่าง ๆ ไปจนถึงการคิดหาเหตุผลทุกรูปแบบ เขาได้มองลึกลงไปว่า แนวความคิดทางด้านศึกษาศาสตร์ได้จำกัดความหมายของกระบวนการทางปัญญาให้แคบลงไป  และโรงเรียนก็พยายามเน้นและพัฒนาความคิดของนักเรียนให้อยู่ภายในขอบเขตที่กำจัด โดยเขาเชื่อว่ายังมีรูปแบบการคิดที่เป็นประโยชน์อีกมาก แต่ไม่เปิดเผยออกมาทางวาจา รวมทั้งการคิดที่ขาดเหตุผลเชิงตรรกะ รูปแบบเหล่านี้จะทำหน้าที่ของมันผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเห็น การฟังการเปรียบเทียบ และการสังเคราะห์   กระบวนการคิดแนวนี้ทางโรงเรียนให้ความสนใจน้อยมาก ทั้ง ๆที่การติดตามรูปแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นและพัฒนาตัวมันเองขึ้นมาแน่ ๆ นอกโรงเรียน
         จากข้อเท็จจริงตามประเด็นแรกนี้ สรุปได้ว่า โรงเรียนสร้างผลกระทบให้เกิดแก่ผู้เรียนได้ โดยไม่เพียงแต่จากสิ่งที่สอนเท่านั้น  แต่จากสิ่งที่ควรสอนแต่ไม่นำมาสอนอีกด้วย เพราะสิ่งที่นักเรียนไม่มีโอกาสพิจารณาสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสรู้และกระบวนการที่เขาไม่มีโอกาสใช้ จะมีผลต่อการดำรงชีวิตของนักเรียน
         ประเด็นที่สองที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้น  ไอส์เนอร์ ชี้แจงว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือที่ไหน ๆ ในโลกนี้ มักจะสอนเนื้อหาเก่าๆ เดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ในระดับประถมศึกษาก็จะสอนเกี่ยวกับการสอนเกี่ยวกับการอ่าน การเขียน และการคิดเลขเป็นหลัก แล้วมีสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ทั่วไป สุขศึกษา พลศึกษา และอื่น ๆ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการดำรงชีวิต ทำไมจึงไม่นำวิชาหรือเนื้อหาอื่น ๆ ใหม่ ๆที่จำเป็นมาสอนบ้าง เขาได้ให้ความเห็นในจุดนี้ว่า เนื้อหาวิชาที่สอนกันเรื่อยมาจนเป็นประเพณีของโรงเรียนนั้นไม่ใช่เป็นเพราะขาดการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไปได้ของการนำเนื้อหาอื่น ๆ ใหม่ๆ มาสอน แต่มักจะเป็นเพราะพวกเขาถูกสอนมาอย่างนั้น ครูโดยทั่วไปจะสอนในสิ่งที่เคยสอนกันมาตามนิสัยและความเคยชิน และโดยกระบวนการนี้ทำให้เกิดการละเลยสาขาวิชาใหม่ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่า มีคุณประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
         จากเหตุผลและแนวคิดดังกล่าวนี้ ถือได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์  กฎหมาย จิตวิทยาและมนุษยวิทยา เป็นหลักสูตรสูญ ของหลักสูตรระดับประถมและมัธยมศึกษา
         การพิจารณาหลักสูตรสูญในเชิงเนื้อหานั้น มีการมองตั้งแต่การขาดเนื้อหาในระดับวิชาไปจนถึงระดับรายละเอียดหรือหรือหัวข้อย่อย ๆ ของวิชานั้น ๆ ในกรณีของหลักสูตรสูญในระดับประถมและมัธยมศึกษา สามารถอธิบายให้เห็นได้ว่าการขาดเนื้อหาในระดับวิชา จะปรากฏออกมาในรูปของเนื้อหาที่ขาดหายไป จากรายวิชาของวิชาหลัก เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่โดยทั่วไป  มักจะละเลยการสอน  “ประวัติของวิทยาศาสตร์” ซึ่งถือว่าเป็นรายวิชาหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์
         นอกจากนี้การที่รายวิชาหนึ่งๆ ขาดหรือละเลยหัวข้อหัวเนื้อหาหนึ่งเนื้อหาใดไปก็ถือว่าเป็นหลักสูตรสูญเช่นเดียวกัน ตัวอย่างของการขาดเนื้อหาในระดับนี้ได้แก่การที่ย่อยลงไปกว่านี้ ได้แก่ การที่หลักสูตรสูญชีววิทยาขาดการบรรจุเรื่อง “ความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ” เอาไว้ระดับย่อยลงไปกว่านี้ได้แก่ การละเลยรายละเอียดเฉพาะของเนื้อหา เช่น หัวข้อเนื้อหาเรื่อง “ผัก” อาจจะครอบคลุมไม่ถึง “ผักกวางตุ้ง.”  หรือ “ผักชี” เป็นต้น
         ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้  เป็นมิติที่ไอส์เนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดเรื่องหลักสูญได้กำหนดเอาไว้เป็นหลักในการพิจารณาสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรต่อมาฟลินเดอร์และคณะ (Finders, et.al, 1986) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันเดียวกันกับไอส์เนอร์ ได้เสนอประเด็นการพิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งอันเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านอารมณ์และความรู้สึก (affect) อันประกอบด้วยค่านิยม เจตคติ   และอารมณ์ โดยนัยเดี่ยวกัน หลักสูตรสูญตามประเด็นที่สามนี้ ได้แก่ การที่หลักสูตรไม่ได้คำนึงหรือบรรจุความรู้สึก เจตคติ และค่านิยมในบางด้านและบางเรื่องเอาไว้
         2. การนำความคิดของหลักสูตรสูญไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
         ถึงจุดนี้  ผู้เรียนเข้าใจแล้วว่า  หลักสูตรสูญได้แก่สิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือสิ่งที่ไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร  และสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรจำแนกออกได้เป็น 3 ด้านคือ สิ่งที่ขาดหายไปในรูปของกระบวนการทางปัญญา เนื้อหา และด้านความรู้-ค่านิยม
         คงไม่ยากที่จะทำความเข้าใจแนวคิดของเรื่องนี้  แต่ปัญญาหาที่อยู่ในใจของเราก็คือว่า  เราจะใช้อะไรเป็นตัวกำหนดหรือเป็นกรอบในการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นส่วนที่ขาดหายไปจากหลักสูตร (หรือหลักสูตรสูญ) เช่น ในกรณีที่เราไม่ได้เปิดสอนวิชาตรรกวิทยาในระดับชั้นอนุบาล  จะถือว่าวิชาตรรกวิทยาเป็นหลักสูตรสูญของหลักสูตรอนุบาลหรือไม่  คำตอบก็คือ  ไม่ใช่  ที่ตอบเช่นนี้ก็โดยเหตุผลที่ว่า  ตามปกติเวลานักพัฒนาหลักสูตรจะกำหนดเนื้อหาลงไปในหลักสูตรนั้น  เขาจะคำนึงถึงความจำเป็น  ความเหมาะสมและความสอดคล้องของเนื้อหาที่มีต่อผู้เรียน  ดังนั้น  เมื่อจะพิจารณาว่ามีกระบวนการใด   หรือเนื้อหาใดขาดไปจากหลักสูตรก็จะต้องมีการกำหนดกรอบ (frame of reference) ที่เป็นกลางๆ เอาไว้อ้างอิง  ถ้าหากหลักสูตรไม่ได้ครอบคลุมถึงสิ่งที่เป็นเนื้อหากลางๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเรียนแล้ว  หลักสูตรเหล่านั้นก็จะด้อยคุณค่าทันที  จากตัวอย่างการพิจารณานำวิชาตรรกวิทยามาบรรจุในหลักสูตรอนุบาลนั้น ต้องถือว่า หลักสูตรสากลของอนุบาลศึกษาจะต้องไม่มีการเรียนวิชาตรรกวิทยา



อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

กิจกรรม (Activity) บทที่1

1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเรื่อง การพัฒนามนุษย์ การศึกษา การเรียนรู้และหลักสูตร
2. ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ “การพัฒนาหลักสูตร : นิยามความหมาย”

1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนามนุษย์ การศึกษา การเรียนรู้และหลักสูตร

ตอบ 1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)
         คำจำกัดความของ “ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ”
            มนุษย์ คือ สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล  สัตว์ที่มีจิตใจสูง
            ทรัพยากร หมายถึง  สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์  
             ส่วนพัฒนา  หมายถึง  ทำให้เจริญ (พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)
         จากความหมายของศัพท์ดังกล่าว สรุปได้ว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ การทำให้มนุษย์เจริญ มีศักยภาพมากขึ้นจนกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าในสังคมและในประเทศ       
         การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง  กระบวนการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้ บุคลากรเพิ่มความรู้ และทักษะ มีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         Swanson (1995) ให้ความหมายว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาและการทําใหบุคลากรได้แสดงความเชี่ยวชาญ (Expertise) โดยใชการพัฒนาองค์การ การฝึกอบรมบุคคลและพัฒนาบุคคลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงาน
         Rothwell and Sredl (1992) ใหความหมายว่า เป็นการจัดประสบการณการเรียนรู้ขององค์การ(Organizational Learning) โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงการทํางานซึ่งเน้นการทําให้บุคลากรทํางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการบูรณาการเป้าหมายขององค์การและความต้องการของบุคคลให้สอดรับกัน
         หลักการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการนำศักยภาพของแต่ละบุคคลมาใช้ ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างให้แต่ละบุคคลเกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์การ ตลอดจนเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์การ เมื่อพิจารณา
         1. มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เพิ่มพูนขึ้นได้ ทั้งด้านความรู้ ด้าน ทักษะและเจตคติ ถ้าหากมีแรงจูงใจที่ดีพอ
         2. การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ควรเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก นำมาสู่การพัฒนาในระบบขององค์การ
         3. วิธีการในการพัฒนาทรัพยากรมีหลายวิธี จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะขององค์การ และบุคลากร
         4. จัดให้มีระบบการประเมินการพัฒนาความสามารถของบุคลากรเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขบุคลากรบางกลุ่ม ให้พัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็ สนับสนุน ให้ผู้มีขีดความสามารถสูงได้ก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งใหม่ที่ต้องใช้ ความสามารถสูงขึ้น
         5. องค์การจะต้องจัดระบบทะเบียนบุคลากรให้เป็นปัจจุบัน ที่สามารถ ตรวจสอบความก้าวหน้าได้เป็นรายบุคคล 
         แนวความคิดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
         กลุ่มที่ 1 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การดำเนินการให้ บุคคลได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะนำเอามา ปรับปรุงความสามารถในการทำงานโดยวิธีการ 3 ประการ คือ
                  1. การฝึกอบรม (training) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้น เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน (present job) เป้าหมาย คือการยกระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะ ของพนักงานในขณะนั้น ให้สามารถทำงานในตำแหน่งนั้น ๆได้ ซึ่ง ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที
                  2. การศึกษา (education) เป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยตรง เพราะ การให้การศึกษาเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะ ทัศนคติ ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถ ในการปรับตัวในทุก ๆด้านให้กับบุคคล โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานของพนักงานในอนาคต (future job) เพื่อเตรียมพนักงานให้มีความพร้อมที่จะทำงานตามความต้องการของ องค์กรในอนาคต
                  3. การพัฒนา (development) เป็นกระบวนการปรับปรุงองค์กรให้มี ประสิทธิภาพ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งตัวงาน (not focus on a job) แต่มีจุดเน้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่องค์กรต้องการ และพร้อมที่จะปฏิบัติงานกับองค์กรใน อนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง รวดเร็ว
         กลุ่มที่ 2 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การนำกิจกรรมที่มีการ กำหนดและวางรูปแบบอย่างเป็นระบบเพื่อใช้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความสามารถ และ ปรับปรุงพฤติกรรมของพนักงานให้ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ส่วน คือ
                  1. การพัฒนาบุคคล (Individual Development)
                  2. การพัฒนาสายอาชีพ (Career Development)
                  3. การพัฒนาองค์การ (Organization Development)
       โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเกิดได้จากการนำเป้าหมายของบุคคล ซึ่งต้องให้ได้มาซี่งเป้าหมายของแต่ละคน เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายขององค์การที่ต้องการบุคคลากรประเภทใดทั้งในระยะ สั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการนำการพัฒนาสายงานอาชีพเป็นตัวเชื่อมเป้าหมายของบุคคล กับเป้าหมายขององค์การนั้น
         กลุ่มที่ 3 ให้นิยามการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า หมายถึง การที่จะพัฒนาองค์การ ให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้และงานเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถนำมารวมกันได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบใน 3 ส่วน คือ
                  1. ระดับบุคคล (Individual)
                  2. ระดับกลุ่มหรือทีมผู้ปฏิบัติงาน (Work Group or Teams)
                  3. ระดับระบบโดยรวม (The System)
ซึ่งกระบวนการเรียนรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
         1. การเรียนรู้จากประสบการณ์ (อดีต)
         2. การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ปัจจุบัน
         3. การเรียนรู้เพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อันเป็นที่มาของ วินัย 5 ประการ (Disciplines of the Learning Organization) ประกอบด้วย
         1. ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคล (Personal Mastery)
         2. กรอบแนวความคิด (Mental Models)
         3. การร่วมวิสัยทัศน์ (Shared Vision)
         4. การเรียนรู้ของทีม (Team Learning)
         5. การคิดแบบเป็นระบบ(Systems Thinking)
2. การศึกษาพัฒนามนุษย์
        สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  ที่มนุษย์ทุคนจำต้องแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตผ่านการจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างมหาศาล  ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุดนั้นทั่วโลกให้การยอมรับว่า  “การศึกษา  คือ  การพัฒนาคน”  ที่ยั่งยืนที่สุด
         ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  มีการปฏิรูประบบ   การศึกษา  เพื่อให้กระบวนการทางการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  มีการจัดประชุม  อบรม  สัมมนา พัฒนาศักยภาพในรูปแบบต่าง ๆ  เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษามีความรู้  ความสามารถ  และความเข้าใจทฤษฎี  พอที่จะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มกำลัง  แต่ในทางปฏิบัติเรากับพบว่าบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากยังยึดติดกับกระบวนการเดิม ๆ     เราจึงควรปฏิวัติระบบที่เราคิดว่า  ”เราคือผู้สอนหนังสือ”  มาเป็น  “ผู้ชี้ทาง”  แก่ลูกศิษย์         เพราะหากเรามัวแต่ยัดเยียดความรู้แบบเดิม ๆ  ให้กับลูกศิษย์ก็คงไม่ได้อะไรมากนัก  และที่สำคัญไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์   ดังนั้นการพัฒนาคน  พัฒนาประเทศชาติเพื่อความยั่งยืนของประเทศ  บุคลากรทางการศึกษาจำเป็นต้องปรับท่าทีหรือพฤติกรรมในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนให้สามารถนำความรู้หรือกระบวนการต่าง ๆ  ที่ได้รับ  ไปสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองให้เกิดเป็นนิสัย  หรือเพื่อเกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในตนเองตลอดไป
         ลักษณะการศึกษาช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี
         การศึกษา คือ การสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะนิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษาจึงเป็นความจำเป็นของชีวิตอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความจำเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การศึกษาจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต เป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาทุก ๆ ด้านของชีวิตและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตในโลกที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่าง รวดเร็ว และส่งผลกระทบให้วิถีดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันการศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็น มากขึ้นด้วย การศึกษาที่จะช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีความสุข จะต้องมีลักษณะ ที่สำคัญดังนี้
         1. เป็นการศึกษาที่ให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น ความรู้และ ทักษะทางด้านภาษา การคิดคำนวณ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
         2. การศึกษาทำให้คนเป็นคนฉลาด เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และ รู้จักวิธี
แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการงานอาชีพ
         3. การศึกษาต้องสร้างนิสัยที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยเฉพาะนิสัยรักการ เรียนรู้ และ
นิสัยอื่น ๆ เช่นความเป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ เป็นต้น
         4. การศึกษาต้องสร้างความงอกงามทางร่างกาย มีสุขภาพพลามัยที่ดี รู้จัก รักษาตนให้
แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสารพิษ
         5. การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วน
รวมให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในสังคม อยู่รวมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสร้างสังคมที่สงบเป็นสุข รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
         6. การศึกษาต้องทำให้คนมีทักษะการงานอาชีพที่เพียงพอกับการเข้าสู่การงานอาชีพรู้จักการประกอบอาชีพและรู้จักพัฒนาการงานอาชีพ
         ทั้ง 6 ประการ เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่จำเป็น ที่คนจะต้องได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคน
ถ้าทุกคนได้รับอย่างครบถ้วน เพียงพอก็จะทำให้เกิดทักษะลักษณะและนิสัยที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสำหรับคนบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ขาดความพร้อมในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีความ จำเป็นมากที่สุด คนที่ขาดความพร้อมต้องการการศึกษามาก มักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมตลอดเวลา การศึกษาที่ได้รับก็มักเป็นบริการที่กระท่อนกระแท่น ไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่พอแม้เพียงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ตรงข้ามกับผู้ที่มีความพร้อมพอจะช่วยตนเองได้ กลับได้รับบริการที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีกว่ามากดังจะเห็นได้จากสถานศึกษาในเมืองกับในชนบท ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การศึกษานอกจาก จะไม่สามารถสร้างความพร้อมที่เพียงพอกับผู้ต้องการแล้ว ยังส่งเสริมให้ช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนแตกต่างกันมากขึ้นด้วย
         เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การศึกษาเสียใหม่ให้หันมาให้ความสำคัญกับคนยากจนคนเสียเปรียบ และคนด้อยโอกาสให้มากขึ้นทรัพยากรของรัฐต้องนำมาใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงบริการการศึกษา สำหรับคนยากจนให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ ให้เพียงพอกับการสร้างลักษณะนิสัยและความพร้อมที่จำเป็น ถ้าคนยากจน คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยายและยังทำให้เขากลายเป็นกำลัง สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีด้วย         
         การศึกษานอกจากเป็นปัจจัยที่ 5 แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย เราจงฝากความหวังของชาติ ด้วยการพัฒนาการศึกษากันเถิด
3. หลักสูตร
         นิยามและความหมายของหลักสูตร (Conception of Curriculum)
         หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หลักสูตรที่ดีต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้มีเนื้อหาสาระทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง     ซึ่งมีนักการศึกษาได้อธิบาย และให้ความหมายการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้

          1. ความหมายของหลักสูตร
          นักการศึกษา ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทัศนะ ความเชื่อ แนวคิด ปรัชญาและประสบการณ์ ซึ่งสามารถประมวลความหมายของหลักสูตรที่สำคัญได้ ดังนี้
         เซยเลอร์  อเล็กซานเดอร์  และเลวิส (Sayler, Alexander and Lewis. 1981 : 8)  ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ว่า  หลักสูตร  หมายถึง  แผนการเรียนการสอนที่จัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่บุคคลที่ได้รับการศึกษา
         บีน  และคนอื่น ๆ  (Beane & others. 1986 : 34 - 35)  สรุปความหมายของหลักสูตรไว้โดยใช้เกณฑ์ความเป็นรูปธรรม  (Concrete) ไปสู่นามธรรม  (Abstract)  และจากการยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (School - centered) ไปสู่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner - centered) โดยได้อธิบายไว้  ดังนี้
                  1. หลักสูตร คือ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการศึกษา (Curriculum  as  product)
                  2. หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการในการจัดการศึกษา (Curriculum  as  program)
                  3. หลักสูตร คือ การเรียนรู้ที่กำหนดไว้อย่างมีความหมาย (Curriculum  as  intended  learning)
                  4. หลักสูตร คือ ประสบการณ์ของผู้เรียน  (Curriculum  as experience  of  the  learner)
          โอลิวา  (Oliva. 1992 : 8 – 9)  ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตร  โดยแบ่งเป็น
                  1. การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตร จึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไรหรือมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอด  มรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน เป็นต้น
                  2. การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามหลักสูตรในลักษณะนี้  เป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตร ซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหลักสูตรเพื่อการปฏิรูปสังคม  เป็นต้น
                  3. การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการให้นิยามหลักสูตร ในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การทำงานกลุ่ม หลักสูตร  คือ การเรียนรู้รายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
          โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียนโดยแผนงานต่าง ๆ จะถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร           มีขอบเขตกว้างขวาง หลากหลาย เพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (Course) หรือเป็นรายวิชาย่อย (Sequence of courses) ทั้งนี้ แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าว อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ภายใต้การบริหารและดำเนินงานของสถานศึกษา
          โซเวลล์  (Sowell. 1996 : 5)  ได้กล่าวว่า มีผู้อธิบายความหมายของหลักสูตรไว้อย่างมากมาย เช่น หลักสูตรเป็นการสะสมความรู้ดั้งเดิม เป็นวิธีการคิด เป็นประสบการณ์ที่ถูกกำหนดไว้  เป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้ เป็นความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นเนื้อหาและกระบวนการ เป็นแผนการเรียนการสอน เป็นจุดหมายปลายทางและผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอนและเป็นผลผลิตของระบบเทคโนโลยี เป็นต้น  โซเวลล์ ได้อธิบายว่า เป็นเรื่องปกติที่นิยามความหมายของหลักสูตรมีความแตกต่างกันไปเพราะบางคนให้ความหมายของหลักสูตรในระดับที่แตกต่างกันหรือไม่ได้แยกหลักสูตรกับการจัดการเรียนการสอน แต่อย่างไรก็ตาม โซเวลล์ ได้สรุปว่า หลักสูตร คือ  การสอนอะไรให้กับผู้เรียน  ซึ่งมีความหมายที่กว้างขวาง  ที่รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร ทักษะ และ ทัศนคติ  ทั้งที่ได้กำหนดไว้และไม่ได้กำหนดไว้ให้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษา
          ชมพันธุ์  กุญชร    อยุธยา (2540 : 3 – 5) ได้อธิบายความหมายของ หลักสูตรว่า มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ความหมายที่แคบสุดจนถึงกว้างสุด ซึ่งสามารถจำแนกความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
                  1. หลักสูตร  หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียน  นักการศึกษาที่มีความคิดเห็นว่า  หลักสูตร หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียนนั้น  มองหลักสูตรที่เป็นเอกสารหรือโครงการของการศึกษาที่สถาบันการศึกษาไว้วางแผนไว้  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้  หลักสูตรตามความหมายนี้ หมายรวมถึง  แผนการเรียนหรือรายวิชาต่างๆ ที่กำหนดให้เรียนรวมทั้งเนื้อหาวิชาของรายวิชาต่างๆ กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนความคิดเห็นของนักการศึกษากลุ่มนี้ ไม่รวมถึงการนำหลักสูตรไปใช้หรือการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง
                  2. หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนของผู้เรียน ที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย จุดมุ่งหมาย เนื้อหา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การประเมินผล
         รุจิร์  ภู่สาระ  (2545 : 1)  ได้อธิบายความหมายของหลักสูตรว่า  หมายถึง  แผนการเรียน ประกอบด้วยเป้าหมาย  และจุดประสงค์เฉพาะที่จะนำเสนอและจัดการเนื้อหา  รวมถึงแบบของการเรียนการสอนตามจุดประสงค์  และท้ายที่สุดจะต้องมีการประเมินผลของการเรียน
         นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA  ซึ่งหมายถึง
                  - S (Curriculum as Subjects and Subject Matter)
                       หลักสูตร คือ รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
                  - O (Curriculum as Objectives)
                       หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
                  - P (Curriculum as Plans)
                        หลักสูตร คือ แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
                  - E (Curriculum as Learners, Experiences)
                        หลักสูตร คือ ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
                  - A (Curriculum as Educational Activities)
                        หลักสูตร คือ กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน
         หลักสูตรในความหมายเดิม จะหมายถึง รายวิชาต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องเรียนส่วนความหมายใหม่ จะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้คำแนะนำ และความรับผิดชอบของโรงเรียน
         หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
                  1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
                  2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
                  3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่นักเรียน
                  4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
                  5. หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
                  6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
                  7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
           นอกจากนั้นยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับหลักสูตรอีก เป็นต้นว่า
                  1. โปรแกรมการเรียน (A Program of Studies) คำนี้ใช้แทนความหมายของหลักสูตร ซึ่งคนทั่ว ๆไปใช้ คล้ายกับรายการเรียงลำดับรายวิชา ปัจจุบันยังมีการใช้คำนี้ในการ จัดการศึกษาอุดมศึกษาโดยการจัดลำดับรายวิชา
                  2. เอกสารการเรียน (A Document) เป็นการให้ความหมายของหลักสูตร ตามจุดมุ่งหมายที่ จะให้ศึกษา เพื่อเสนอต่อผู้มาติดต่อที่สถานศึกษา
                  3. แผนการจัดกิจกรรม (Planned Experiences) หมายถึง กิจกรรมทั้งมวลที่โรงเรียน จัดให้นักเรียนและการวางแผนหลักสูตรเป็นการเตรียมการให้โอกาสกับผู้เรียน
                  4. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า
         หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ หลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน ส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการ หลักสูตรจะระบุสิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ (เนื้อหา)
         จากแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่านดังกล่าวพบว่า    มีการให้นิยามแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ที่ใช้ในการอธิบายแตกต่างกัน  ในการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า  หลักสูตร หมายถึง  แนวการจัดประสบการณ์ และ/หรือ เอกสาร ที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษา โดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้   
         2. ความสำคัญของหลักสูตร
         ความสำคัญของหลักสูตรที่มีต่อการจัดการศึกษานั้น  นักการศึกษาหลายท่านได้กล่าว
ตรงกันว่า หลักสูตรมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา ทั้งนี้  ธำรง  บัวศรี  (2532 : 6 - 7) ได้กล่าวว่า หลักสูตรมีความสำคัญ เพราะหลักสูตรเป็นส่วนกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมีรายละเอียดที่บ่งชี้ว่า ผู้เรียนควรเรียนรู้อะไร มีเนื้อหาสาระมากน้อยเพียงไร  ควรได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะในด้านใด และควรมีพัฒนาการทั้งในส่วนของร่างกาย  จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างไร
         นอกจากนี้ สุมิตร  คุณานุกร (2536 : 199 -200)  กล่าวถึง ความสำคัญของหลักสูตรว่าหลักสูตรมีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องชี้นำทางหรือเป็นบทบัญญัติของรัฐในการจัดการศึกษา  เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานำไปปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา และควบคุมการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา
         นอกจากนี้ ปฎล  นันทวงศ์ และไพโรจน์  ด้วงวิเศษ (2543 : 9)  สรุปความสำคัญของหลักสูตรว่า หลักสูตรมีความสำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกฝ่ายต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีประสิทธิภาพตามที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
         จากความสำคัญของหลักสูตรข้างต้น สรุปว่า หลักสูตรมีความสำคัญ เพราะหลักสูตรเป็นเอกสารซึ่งเป็นแผนการหรือโครงการจัดการศึกษาที่ระบุแนวทางการจัดมวลประสบการณ์   เป็นส่วนกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานำไปปฏิบัติ  เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพทางการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาที่หลักสูตรกำหนดไว้
         3. องค์ประกอบของหลักสูตร
         ในการพัฒนาหลักสูตรต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่มีความสอดคล้อง และมีความสัมพันธ์กัน โดย เคอร์ (Kerr. 1976 : 16 - 17)   ได้นำเสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้  4  ส่วน  ได้แก่ 1. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 2. เนื้อหาสาระ 3. ประสบการณ์การเรียน และ 4. การประเมินผล  
         ซึ่งสอดคล้องกับ ทาบา (Taba. 1962 : 10)  ที่ได้เสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตรไม่ว่าจะสร้างขึ้นในลักษณะใด ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ 1. จุดมุ่งหมาย  2. เนื้อหาสาระ 3. กิจกรรมและรูปแบบการเรียนการสอน และ 4. การประเมินผล
         จากการศึกษาองค์ประกอบของหลักสูตร ตามที่นักการศึกษาได้กำหนดไว้  สรุปได้ว่า นักการศึกษาได้นำเสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้มีความสอดคล้องกัน โดยองค์ประกอบของหลักสูตรที่สำคัญมี  4  ส่วน คือ    
                  1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร       
                  2. เนื้อหาสาระ                                
                  3. กระบวนการจัดการเรียนรู้         
                  4. การประเมินผล
         4. แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร
         นักการศึกษาหลายท่าน ได้อธิบายความหมายของการพัฒนาหลักสูตร ไว้คล้ายคลึงกัน
ซึ่งสรุปได้ว่า  การพัฒนาหลักสูตรมีความหมายใน 2  ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 เป็นการทำหลักสูตร  ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และลักษณะที่ 2 เป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน  (Sowell. 1996 : 16)
         จากความหมายดังกล่าว  พบว่า  การพัฒนาหลักสูตรนั้น มีความหมายที่ครอบคลุมในหลายมิติตั้งแต่ การวางแผนหลักสูตร จัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร (Curriculum planning) การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ (Curriculum  implementation)และการประเมินผลหลักสูตร (Curriculum evaluation) การพัฒนาหลักสูตรให้ดีและมีคุณภาพนั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในแต่ละมิติว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ รายละเอียดของมิติในการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้
         การวางแผนจัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร ประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูล
พื้นฐาน  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  การกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้  การกำหนดการวัดและประเมินผล  การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ  ประกอบด้วย  การจัด  ทำรายละเอียดของหลักสูตร เพื่อให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถใช้หลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ   การผลิตและการใช้สื่อการเรียนการสอน  การเตรียมบุคลากร  การบริหารหลักสูตรและการสอนตามหลักสูตร  การประเมินผลหลักสูตร ประกอบด้วย  การประเมินเอกสารหลักสูตร  การประเมินการใช้หลักสูตร  การประเมินสัมฤทธิผลของหลักสูตร  และการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ  โอลีวา (Oliva. 1992 : 14 – 15)
         จากแนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร พบว่า การพัฒนาหลักสูตรเป็นการทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นหรือเป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน เป็นกระบวนการที่เป็นระบบเชื่อมโยงกันในมิติต่าง ๆ ได้แก่  การวางแผนจัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตร




อ้างอิง : http://www.drpracha.com/index.php?topic=1014.0
           https://www.gotoknow.org/posts/341156
           http://www.kroobannok.com/blog/10118

           http://gunyalak06540159.blogspot.com/2013/03/conception-of-curriculum.html