การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์
กับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้มีความหมายต่อการศึกษา
เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง
และในฐานะที่เป็นทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ
การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวมนุษย์นั้น เป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่า
เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาระยะยาว) ส่วนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
มีความหมายขึ้นกับกาลเทศะ หรือยุคสมัยมากกว่า คือ
เป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้น (การศึกษาระยะสั้น) เช่น
เพื่อสนองความต้องการของสังคมในด้านกำลังคนในสาขางานและกิจการต่าง ๆ
ฉะนั้นเราจึงควรจัดการศึกษาทั้งสองอย่างนี้ให้สัมพันธ์กัน
เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาทั้งสองส่วนนี้ให้สัมพันธ์กันจนเกิดดุลยภาพขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมอย่างมาก
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต 2540 : 1)
กล่าวว่า ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุด
คือ "การพัฒนาคน" ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข
และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคน คือ "การศึกษา"
คนที่มีการศึกษา ตลอดจบการศึกษาแล้วเรียกว่า "บัณฑิต" โดยบัณฑิต คือ
คนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท
พัฒนาชีวิตของตนจนบรรลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต
การพัฒนา (Development)
เป็นการศึกอบรมคนให้มีความสามารถใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่
มุมมองใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างสรรค์งานได้ผลดียิ่งขึ้น
มีบริการที่รวดเร็วกว่า มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนารายบุคคลแต่ไม่เกี่ยวข้องกับงานปัจจุบันหรืออนาคต
บุคลากรในองค์กรทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้อยู่ในแนวหน้า
ปัจจุบันเราเรียกองค์กรนี้ว่า "องค์กรแห่งการเรียนรู้"
การพัฒนามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เป็นระบบ
ทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
มีการปรับบทบาทหน้าที่การคงอยู่ขององค์กร
กล่าวโดย สรุปการศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มุ่งการจัดระบบประสบการณ์การเรียนรู้
การดำเนินการภายในเวลาที่จำกัด
เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ
และการเจริญเติบโตของงาน การพัฒนามนุษย์ (Human Development) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553
มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และวัฒนธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ
และการศึกษาตามอัธยาศัย หลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ ต้องมีลักษณะหลากหลาย
ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมกับวัยและศักยภาพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทั้งสามฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการศึกษา
อาจสรุปหลักการด้านหลักสูตร ปรากฎตามมาตราต่าง ๆ ดังนี้
· มาตรา
8 (3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
· มาตรา
27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรภาคบังคับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ
ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
· มาตรา
28 หลักสูตรสถานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับบุคคลพิการต้องมีลักษณะหลากหลาย
ทั้งนี้ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับ
โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมกับวัยและศักยภาพ
สาระของหลักสูตรทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ
ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ
ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาการ
วิชาชีพชั้นสูง และด้านการค้นคว้า วิจัย
เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาทางสังคม
อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น