วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข้อมูลพื้นฐานสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาในสังคม

         สภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคมเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องศึกษา  สังคมไทยปัจจุบันกำลังประสบปัญหายุ่งยากหลายประการ  ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาเศรษฐกิจ  และปัญหาการเมือง  ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้มีทั้งระยะสั้นระยะยาว  และการแก้ปัญหาอาจทำได้ชั่วคราวหรืออย่างถาวร  การจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษา   แล้วนำมาสร้างเป็นหลักสูตร  ปัญหาสำคัญๆ  ที่ควรศึกษาคือ
         4.1 ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  การขยายตัวของอุตสาหกรรม  และการใช้เทคโนโลยี  ทำให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติในสังคมไทยมากขึ้น เช่น  ปัญหาการทำลายป่าไม้  ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน  ปัญหาน้ำเสีย  และอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นต้น  ปัญหาต่าง ๆ  สมควรที่จะได้ศึกษาข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อที่นำไปเป็นข้อมูลในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร  เช่น การกำหนดเนื้อหาในเรื่องสภาพแวดล้อม การปลูกฝังการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี  และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ฉลาดถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถกำหนดลงในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ตามความเหมาะสม  เพื่อที่ปลูกฝังความรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดในผู้เรียน  และประเทศก็จะมีพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ  ปัญหาเกี่ยวสิ่งแวดล้อมในอนาคตก็จะได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
         4.2 ปัญหาทางด้านสังคม   ปัญหาทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  มักจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ซึ่งมีสาเหตุจากความเจริญทางด้านวัตถุและวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วด้วยอิทธิพลของการสื่อสาร  ทำให้คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาโดยเฉพาะในหนุ่มสาวหรือเยาวชน  ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางด้านความคิดระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมเดิม  ทำให้เกิดปัญหากับยาเสพติด  ปัญหาทางเพศ  ปัญหาทางอาชญากรรม ซึ่งการศึกษาปัญหาเหล่านี้จะเป็นข้อมูลในการจัดหลักสูตรเพื่อเตรียมเยาวชนสามารถดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุขและไม่เกิดปัญหา
         4.3 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยพื้นฐานนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานดั้งเดิมจากเกษตรกรรม  ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีพื้นฐานอยากจนและมีการศึกษาต่ำ  ประชาชนเกิดการว่างงาน การย้ายถิ่นทำกินชนบทเข้าสู่เมือง  หรืออัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ  สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจยาวนานของประเทศ   ประกอบกับในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ประสบกับภาวะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของโลกทั้งประเทศไทยด้วย  ทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจในอดีต ปัจจุบัน  และแนวโน้มปัญหาที่เกิดในอนาคต  เพื่อจะให้นำข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศ  โดยกำหนดจุดหมายของหลักสูตร  การสร้างหลักสูตรหลายวิชา  หรือการบรรจุเนื้อหาสาระให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับต่าง ๆ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้  และสามารถดำรงอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  โดยไม่เป็นปัญหาหรือภาระของสังคม  หรือจัดการศึกษาเพื่อให้บุคคลสามารถสร้างงานได้
         4.4 ปัญหาทางด้านการเมืองการปกครอง  สภาพปัญหาทางด้านการเมืองของไทยเป็นมาอย่างยาวนาน   สมควรที่การศึกษาจะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาด้านการเมือง คือการให้ความรู้และปลูกฝังในเรื่องของประชาธิปไตย  เพราะประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในท้องถิ่นชนบทมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยไม่ดีพอ  นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ ยังขาดความสำนึกและความรับผิดชอบต่อวิถีทางแบบประชาธิปไตย  ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้ามีบทบาททางการเมืองยังเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย   หรือจำนวนผู้ไปใช้เสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด  แม้ว่านักศึกษามีอายุที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้แล้วแต่อัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์ยังน้อยเหมือนเดิม  ในเมื่อผู้ได้รับการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างดี  ยังขาดความสำนึกความรับผิดชอบเช่นนี้  นักพัฒนาหลักสูตรจึงควรที่จะได้ตระหนักและพัฒนาหลักสูตร  เนื้อหาวิชาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีจิตสำนึก  และความรู้สึกรับผิดชอบต่อการปกครองของประเทศ
         จากสภาพปัญหาต่าง ๆ  ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างที่นักพัฒนาหลักสูตรจะตั้งคำนึงถึง ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรที่ร่างขึ้นมามีส่วนแก้ปัญหาสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมบางปัญหาอาจแก้ได้โดยตรง  บางปัญหาการศึกษาแก้ไขโดยทางอ้อม  ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาปัญหาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างคนที่เป็นประโยชน์แก่สังคม   หรือคนที่จะไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาสังคมต่อไป
         ขั้นตอนในการพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขมีดังนี้
                  1. พิจารณาปัญหาที่ระบบการศึกษาเอื้ออำนวยในการปรับปรุงให้ดีขึ้น
                  2. พิจารณาสาเหตุ ข้อเท็จจริงสภาพปัญหา
                  3. พิจารณาวิชา เนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม
                  4. พิจารณากิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น