วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ขั้นเตรียมการใช้หลักสูตร

         ในการเตรียมการใช้หลักสูตรเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการนำเอาหลักสูตรใหม่เข้ามาแทนที่หลักสูตรเดิมจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีก็ต่อเมื่อได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีนับแต่การตรวจสอบทบทวนหลักสูตรตามหลักการทฤษฎีของหลักสูตร การทำโครงการและวางแผนการศึกษานำร่องเพื่อหาประสิทธิภาพของหลักสูตรหรือการทดลองใช้หลักสูตรการประเมินโครงการศึกษาทดลอง การประชาสัมพันธ์หลักสูตรและการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการใช้หลักสูตร
         1.การตรวจสอบลักษณะหลักสูตร
         จุดประสงค์ของการตรวจสอบหรือทบทวนหลักสูตรเพื่อต้องการทราบว่าหลักสูตรที่พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพื่อศึกษาหาวิธีการที่จะนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติได้จริงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร รวมทั้งศึกษาองค์ประกอบ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรและบริบททางสังคมอื่น ๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร
         การตรวจสอบลักษณะหลักสูตรเพื่อดูความชัดเจนของหลักสูตร ซึ่งได้แก่ ความกระจ่างชัดของคำชี้แจง คำอธิบายสาระสำคัญแนะปฏิบัติต่าง ๆ ของหลักสูตร นอกจากนั้น จะดูความสอดคล้องขององค์ประกอบหลักสูตร ได้แก่จุดประสงค์การเรียน เนื้อหาสาระ กิจกรรมประสบการณ์การเรียน และการประเมินผลมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ รวมทั้งความหวังของสังคมได้สะท้อนเข้ามาอยู่ในส่วนใดของตัวหลักสูตร ความซับซ้อนของเนื้อหามีมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญอีกประการณ์หนึ่งคือรายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏในหลักสูตรนั้นสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ รวมทั้งบุคลากรและสิ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอน ผู้บริหาร งบประมาณ การบริหารสนับสนุนการใช้หลักสูตรได้ตามจุดประสงค์
         คณะบุคคลที่ทำการตรวจสอบหลักสูตร ได้แก่คณะกรรมการยกร่างหลักสูตรผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ผู้เรียนและผู้ปกครอง ซึ่งควรจะได้มีบทบาทในการประชุมสัมมนาเพื่อหาประสิทธิภาพของหลักสูตร เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน เห็นคุณค่า เกิดการยอมรับ และมีทัศนคติที่ดีต่อหลักสูตรซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการจะนำหลักสูตรไปใช้ต่อไป
         2. การวางแผนและทำโครงการศึกษานำร่อง
         การวางแผนและทำโครงการศึกษานำร่องเป็นสิ่งที่จำเป็นจะตรวจสอบคุณภาพความเป็นไปได้ของหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้ปฏิบัติจริง วิธีการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติประการแรกคือเลือกตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะทำการใช้หลักสูตร จากนั้นแปลงหลักสูตรสู่กระบวนการเรียนการสอน พัฒนาวัสดุหลักสูตร เตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร จัดหาแหล่งบริการที่สนับสนุนการใช้หลักสูตร งบประมาณ จัดสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนการสอนติดตามผลการทดลองทั้งระยะสั้นและ   ระยะยาว รวมทั้งศึกษาระบบการบริหารของโรงเรียนในปัจจุบันว่าระบบหลักสูตรจะเข้าไปปรับใช้ให้เข้ากับระบบบริหารที่มีอยู่เดิมให้ผสมผสานกันได้อย่างไร โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเดิม
         3. การประเมินโครงการศึกษานำร่อง
         การประเมินโครงการศึกษานำร่องอาจจะกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น การประเมินผลการเรียนจากผู้เรียน โดยการประเมินแบบย่อย และการประเมินรวมยอด การประเมินหลักสูตรหรือการประเมินทั้งระบบการใช้หลักสูตร และปรับแก้จากข้อค้นพบ โดยประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร เพื่อนำความคิดเห็นบางส่วนมาปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
         4. การประชาสัมพันธ์หลักสูตร
        การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามย่อมมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้บริหารการศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอ ผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัดและอำเภอ ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ ครูผู้สอน ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้นมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรณี ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะหลักสูตรเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ หลายอย่างไม่เฉพาะเรื่องการเรียนการสอนเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวพันไปถึงวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ อาคารสถานที่ และงบประมาณค่าใช้จ่าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งจะต้องปรับตัวแก้ไขวิธีการทำงานและปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้การใช้หลักสูตรผลสำเร็จตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้เขาเหล่านั้นจึงจำต้องทราบว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น อันที่จริงการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ว่าจะมาเริ่มตอนจัดทำหลักสูตรต้นแบบเสร็จแล้ว  แต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรโดยให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบเป็นระยะ ๆ ว่า ได้มีการดำเนินการไปแล้วแค่ไหนเพียงใด
         การประชาสัมพันธ์อาจได้หลายรูปแบบ เช่น การออกเอกสารสิ่งพิมพ์ การใช้สื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนี้การประชุมและการประชุมและการสัมมนากี่ครั้งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรให้ผู้เกี่ยวข้องทราบก็คือสิ่งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นคืออะไร จะมีประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องอย่างไร และจะมีผลต่อบทบาท
         5. การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
         การอบรมผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรต้องคำนึงและต้องกระทำอย่างรอบคอบ  นับแต่ขั้นเตรียมการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่นำมาใช้ในการวางแผน และวิธีการฝึกบุคลากร  เช่น  ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการใช้หลักสูตรซึ่งจะมีความแตกต่างของความพร้อมของใช้หลักโรงเรียนในตัวเมืองขนาดใหญ่ย่อมมีความพร้อมหลายๆ ด้านมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท และบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ เช่น ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู กลุ่มผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ปกครอง วิธีการอบรม ระยะเวลาที่ใช้ในการอบรมและงบประมาณที่ใช้ในแผนนี้
         วิธีการฝึกอบรมจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของการใช้หลักสูตร เช่น ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง วิธีการอบรมจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับนโยบาย เจตนารมณ์ของหลักสูตรการจัดงบประมาณและบริการสนับสนุนการใช้หลักสูตรและการสอน วิธีการที่ใช้ส่วนมากจะเป็นการประชุมชี้แจงสาระสำคัญและ แนวทางการปฏิบัติ เป็นต้น วิธีการที่ใช้ส่วนมากจะเป็นมุ่งเน้นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพราะการที่จะเข้าใจหลักสูตรจนสามารถปฏิบัติการสอนได้นั้นต้องลงมือฝึกปฏิบัติจริงครูจึงจะเห็นภาพรวมและเกิดความมั่นใจในการสอน วิธีการฝึกอบรมแบบนี้จะสิ้นเปลืองงบประมาณและต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้นทรัพยากรต่างๆ การเตรียมวัสดุสำหรับการฝึกอบรม จะต้องมีการวางแผนอย่างดีเพื่อไม่ให้ครูเกิดความสับสนและไม่แน่ใจซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่ยอมรับหลักสูตรใหม่ตามมา นอกจากนั้นครูให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ทราบผลของการฝึกอบรมปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยให้ผู้อบรมได้มีส่วนวางแผนการแก้ปัญหา และตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผลของการพัฒนาหลักสูตรดำเนินไปสู่การปฏิวัติจริงได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น