วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

หลักสูตรรายวิชา

        

          หลักสูตรรายวิชา (The Subject Curriculum) เป็นหลักสูตรที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมไม่เฉพาะแต่ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยก็ได้ใช้หลักสูตรแบบนี้มาแต่ต้น การที่เรียนกว่าหลักสูตรรายวิชาก็เนื่องจากโครงสร้างของเนื้อหาวิชาในหลักสูตร จะถูกแยกออกจากกันเป็นรายวิชาโดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าในด้านเนื้อหาหรือการสอน สำหรับเนื้อหาที่คัดมาถือว่าเป็นเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ หลักสูตรของไทยเราที่ยังเป็นหลักสูตรรายวิชา ได้แก่ หลักสูตรมัธยมและอุดมศึกษา แต่มีการปรับปรุงโครงสร้าง โดยนำเอาระบบหน่วยกิตมาใช้ ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป
         1. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
                  1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร มุ่งส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนโดยใช้วิชาต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ ดังนั้นโครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ หลายวิชา ซึ่งนักพัฒนาหลักสูตรคิดว่าจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการตามที่ได้ดั่งจุดหมายไว้
                   2. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร อาจมีส่วนสัมพันธ์กับสังคมหรือไม่ก็ได้ และโดยทั่วไปหลักสูตรนี้ไม่คำนึงถึงผลที่เกิดแก่สังคมเท่าใดนัก
                   3. จุดประสงค์ของแต่ละวิชาในหลักสูตร เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และลักษณะในวิชานั้น ๆ เป็นสำคัญ
                   4. โครงสร้างของเนื้อหาวิชา ประกอบด้วยเนื้อหาของแต่ละวิชาที่เป็นเอกเทศไม่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น และจะถูกจัดไว้อย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน เพื่อสะดวกแก่การเรียนการสอน
                   5. กิจกรรมการเรียนการสอน เน้นเรื่องการถ่ายทอดความรู้ ด้วยการมุ่งให้ผู้เรียนจำเนื้อหาวิชา การส่งเสริมพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือไม่ก็เป็นผลพวงจากการเรียนรู้เนื้อหาวิชา
                   6. การประเมินผลการเรียนรู้ มุ่งในเรื่องความรู้และทักษะในวิชาต่าง ๆที่ได้เรียนมา
         2. ส่วนดีส่วนเสียของหลักสูตร
         ก. ส่วนดี
                   1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตรซึ่งเน้นเนื้อหาวิชา ช่วยให้เนื้อหาวิชาเป็นไปโดยง่าย
                   2. เนื้อหาวิชาจะถูกจัดไว้ตามลำดับขั้นอย่างมีระบบ เป็นการง่ายและทุ่นเวลาในการเรียนการสอน
                   3. การจัดเนื้อหาวิชาอย่างมีระบบ ทำให้การเรียนรู้เนื้อหาวิชาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
                   4. การประเมินผลการเรียนทำได้ง่ายเพราะมุ่งประเมินความรู้ที่ได้รับเป็นสำคัญ
         ข.ส่วนเสีย
                   1. เนื่องจากจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเน้นการถ่ายทอดความรู้ตามเนื้อหาที่กำหนดไว้    ดังนั้นจึงมักละเลยต่อสภาพและปัญหาของสังคมและท้องถิ่น ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมได้
                   2. การเน้นเนื้อหา ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในด้านอารมณ์และสังคมเท่าที่ควร นอกจากนี้การที่มุ่งให้จำเนื้อหา ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการคิดทักษะในการแก้ปัญหาและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะหย่อนไป
                   3. หลักสูตรแบบนี้ทำให้ผู้สอนละเลยการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เรียนเนื้อหาการเรียนดังกล่าวเรียกว่า การเรียนที่เป็นผลพวง (Concomitant Learning) ซึ่งอาจเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่ผู้เรียนก็ได้
                   4. การที่หลักสูตรจัดแยกวิชาต่าง ๆ ออกเป็นเอกเทศโดยไม่สัมพันธ์กันทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนมองไม่เห็นภาพรวมของสิ่งที่เรียน อันจะนำไปสู่จุดหมายของหลักสูตรสิ่งที่มองเห็นก็คือจุดประสงค์ของแต่ละวิชา ซึ่งกระจัดกระจายแยกกันเป็นอิสระ เป็นการสร้างทัศนะแคบ ๆ ในด้านการเรียนรู้ซึ่งเท่ากับบั่นทอนความอยากรู้ไปในตัว
                   5. ถึงแม้ว่าหลักสูตรแบบนี้จะมีการจัดโครงสร้างและลำดับของเนื้อหาอย่างมีระบบ แต่ก็มักจะละเลยความสนใจของผู้เรียน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การจัดเนื้อหานั้นจะยึดหลักเหตุผลในด้านเนื้อหาสาระของวิชาเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงหลักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการและความต้องการของผู้เรียนแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับการแยกความรู้และความสนใจออกจากกัน ดังนั้นการเรียนจึงไม่เกิดผลสูงสุด เพราะผู้เรียนขาดความสนใจในสิ่งที่ผู้เรียนเรียนตั้งแต่ต้นแล้ว
                   6. กิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรแบบนี้ จะจำกัดอยู่ในลักษณะที่ผู้สอนเป็นผู้ให้และผู้เรียนเป็นผู้รับ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนมีแนวโน้มที่จะเบี่ยงเบนจากความเป็นประชาธิปไตยได้ง่าย บรรยากาศในห้องเรียนมักจะมีความเคร่งเครียดและประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับจะถูกจำกัดให้อยู่ในวงแคบ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียน
         3. การปรับปรุงหลักสูตร
         เนื่องจากหลักสูตรรายวิชามีข้อบกพร่องหลายประการดังกล่าวแล้วจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข วิธีการที่ทำมี 2 วิธี คือ
                  1. จัดเรียงลำดับเนื้อหาให้ต่อเนื่องกัน (Articulation) คือ จัดเนื้อหาที่อยู่ในชั้นเดียวกันหรือระหว่างชั้น ให้ต่อเนื่องกัน โดยรักษาความเป็นวิชาของแต่ละวิชาไว้ การจัดมีอยู่ 2 แบบ คือ
                  ก. จัดให้ต่อเนื่องตามแนวนอน (Horizontal Articulation) หมายถึง การจัดเนื้อหาของวิชาหนึ่งให้สัมพันธ์หรือต่อเนื่องกับของอีกวิชาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในชั้นเดียวกัน เช่น กำหนดเนื้อหาเรื่องปฏิภาคไว้ในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในการคำนวณในเรื่องกฎของก๊าซ ซึ่งจัดไว้คู่ขนานกันในวิชาวิทยาศาสตร์ หรือจัดเนื้อหารายวิชาวรรณคดีไทยในกรุงศรีอยุธยา ไว้คู่ขนานกับประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาในชั้นเดียวกัน และให้เรียนในเวลาใกล้เคียงกันด้วย
                  ข. จัดให้ต่อเนื่องในแนวตั้ง (Vertical Articulation) หมายถึง การจัดเนื้อหาที่อยู่ต่างชั้นกัน คือ ระหว่างชั้นต่ำกับชั้นสูงโดยทำให้เกิดความต่อเนื่องของวิชา ตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษา และอาจถึงมหาวิทยาลัยด้วยก็ได้ ถ้าการจัดใช้หลักอย่างเดียวกันการจัดความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาตามแบบนี้จะจัดภายในหลักสูตรเดียวกัน เช่น ระหว่างชั้น ป.1 ถึง ป.6  ในระดับประถมศึกษา หรือระหว่างชั้น  ป.6 ถึงชั้น ม.1 ของระดับมัธยมศึกษาหรือระหว่างมัธยมศึกษากับมหาวิทยาลัยก็ได้  หลักในการจัดทำนองเดียวกันกับการจัดลำดับเนื้อหาของแต่ละรายวิชา คือ อาศัยหลักความจำเป็นก่อนหลัง  ความยากง่ายของเนื้อหา และหลักอื่น ๆ ที่เห็นว่าสำคัญ
                  2. จัดโดยการเชื่อมโยงเนื้อหาเข้าด้วยกัน (Coherence) คือจัดเนื้อหาของแต่ละวิชาให้เชื่อมโยงกันในลักษณะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ผสมกลมกลืนไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกัน การเชื่อมโยงโดยวิธีการดังกล่าวนี้ทำได้ 2 ระดับ คือ
                  ก. ระดับความคิด (Cognitive level) จุดหมายของหลักสูตรข้อหนึ่งที่เราต่างก็ยอมรับกัน  คือ  การพัฒนาความสามารถทางปัญญา  อันได้แก่ความรู้ความเข้าใจ  ทักษะ  เจตคติ  ความพึงพอใจ  ฯลฯ  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์กัน  กล่าวคือความสามารถอย่างหนึ่งจะส่งเสริมความสามารถอีกอย่างหนึ่ง  และผลสัมฤทธิ์ทางปัญญาทั้งหมดทุกด้านย่อมมีผลต่อการพัฒนาการทางบุคลิกภาพของบุคคลส่วนรวม  การจัดหลักสูตรตามหลักการเชื่อมโยงในระดับความคิดหมายถึงการจัดโดยให้เนื้อหาส่งผลให้ผู้เรียนมีความสามารถในด้านต่างๆ ในลักษณะที่ผสมกลมกลืนกัน  เป็นการจัดที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับการพัฒนาการของบุคคลเข้าด้วยกัน เช่น จัดวิชาวรรณคดี ไม่เพียงแต่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เท่านั้นแต่ให้เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชานั้นด้วยหรือให้การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่จะพัฒนาทักษะในการทดลองเท่านั้น แต่ให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจในประโยชน์ที่วิทยาศาสตร์มีต่อมนุษย์ชาติอีกด้วย
                  ข. ระดับโครงสร้าง (Organizational Level) หมายถึง การจัดให้เนื้อหาในแต่ละวิชาเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน และเกิดประโยชน์ต่อวิชาอื่น ๆ ด้วย เป็นการจัดที่เพ่งเล็งที่เนื้อหาไม่ใช่ตัวบุคคลเหมือนกับระดับความคิด ดังนั้นผู้จัดจะดูว่า เนื้อหาของแต่ละวิชานั้นจะเชื่อมโยงและอำนวยประโยชน์แก่วิชาอื่นอย่างไร ตัวอย่างเช่น การอ่านในวิชาภาษาไทยจะกำหนดเนื้อหาให้มีเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษาอยู่ด้วย เป็นต้น
         วิธีการจัดโดยโยงเนื้อหาเข้าด้วยกันนี้ ทำให้เกิดหลักสูตรสัมพันธ์วิชา (The Correlated Curriculum)



อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น