วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

หลักสูตรประสบการณ์

         

          หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum) เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง ล้วนไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนเท่าที่ควร พื้นฐานความคิดของหลักสูตรนี้มีมาตั้งแต่สมัยรุซโซ (Rousseau) และเพลโต (Plato) แต่ได้นำมาปฏิบัติจริงเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองนับเป็นก้าวแรกที่ยึดเด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
         แรกที่เดียวหลักสูตรนี้มีชื่อว่าหลักสูตรกิจกรรม (The Activity Curriculum) ที่เปลี่ยนชื่อไปก็เนื่องจากได้มีการแปลเจตนารมณ์ของหลักสูตรผิดไปจากเดิม กล่าวคือ มีบุคคลบางกลุ่มคิดว่าถ้าให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรผู้เรียนก็จะเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เข้าทำนองว่าขอให้ทำกิจกรรมก็เป็นใช้ได้ (Activity for activity sake) ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดว่าควรเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ประกอบกันในระยะนั้นทฤษฎีเปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรประสบการณ์ ต่อมาภายหลังเมื่อ วิลเลี่ยมคิลแพทริก (William Kilpatrick) นำเอาความคิดเรื่องการจัดประสบการณ์ในรูปการสอนแบบโครงการเข้ามาหลักสูตรนี้ก็ได้ชื่อเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า หลักสูตรโครงการ (The Project Curriculum) อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในที่นี้เราจะใช้ชื่อหลักสูตรประสบการณ์เพียงชื่อเดียว
         1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
         หลักสูตรประสบการณ์ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่โรงเรียนทดลอง (Laboratory School) ของมหาวิทยาลัยซิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1896 โดยจอห์นและแมรีดิวอี้ พื้นฐานของหลักสูตรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ถ้าจะให้ผู้เรียนสนใจและเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน จะต้องอาศัยแรงกระตุ้น 4 อย่างคือ
                  1. แรงกระตุ้นทางสังคม (Social Impulse) ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้เรียนมีความปรารถนาที่จะคบหาสมาคมกับเพื่อน
                   2. แรงกระตุ้นทางสร้างสรรค์ (Constructive Impulse) ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผู้เรียนไม่อยู่นิ่งชอบเล่น ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นสมมุติ ชอบประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ฯลฯ
                   3. แรงกระตุ้นทางการค้นคว้าทดลอง (Impulse to Investigate and Experiment) หมายถึง ความอยากรู้อยากเห็น รวมทั้งอยากทดลองทำสิ่งที่ตนสงสัย จะเห็นได้จากการที่ผู้เรียนชอบรื้อค้นสิ่งต่าง ๆ และเล่นกับสิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย เช่น เอามือไปแหย่ไฟด้วยความอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
                   4. แรงกระตุ้นทางการแสดงออกด้วยคำพูด การกระทำ และทางศิลปะ (Expressive or Artistic Impulse) ได้แก่ การแสดงออกในด้านการขีดเขียน การพูด การวาดภาพ การเล่นดนตรี ฯลฯ
         จอห์น ดิวอี้ ถือว่าแรงกระตุ้นทั้ง 4 อย่างนี้ ผู้เรียนมีอยู่พร้อม และจะนำออกมาใช้ตามขั้นของพัฒนาการของตน ดั้งนั้นถ้าจะให้ผู้เรียนรู้และมีทักษะในด้านหนึ่งด้านใด ก็ควรเริ่มต้นจากกิจกรรมที่เป็นแรงกระตุ้นอยู่แล้ว และถ้าจะให้เกิดผลดียิ่งขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นควรมีประโยชน์แก่ผู้เรียนด้วย โดยเฉพาะควรเป็นกิจกรรมประเภทการงานที่มีประโยชน์ต่อชีวิติประจำวัน เช่น งานประกอบอาหาร งานเย็บปักถักร้อย และงานช่าง เป็นต้น สำหรับทักษะต่าง ๆ เช่น การอ่าน การเขียนและการคิดเลข ควรเป็นผลที่เกิดจากการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยที่เด็กหรือผู้เรียนมองเห็นด้วยตนเองว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้เกิดผลดีก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
         ในปี ค.ศ. 1904 นักการศึกษาอีกท่านหนึ่งชื่อ มิเรียม (J.L Meriam) ได้ทดลองนำหลักสูตรประสบการณ์ไปใช้ในโรงเรียนประถมของมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) โดยกำหนดขอบเขตของหลักสูตรให้คลอบคลุมกิจกรรม 4อย่างคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการสังเกตพิจารณา กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเล่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับนิยายและเรื่องราวต่าง ๆ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำงานด้วยมือ หลักการของหลักสูตรก็เหมือนกันกับของจอห์น ดิวอี้ คือใช้ทักษะในการอ่าน เขียน คิดเลข เป็นเครื่องส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำกิจกรรม
         ในปี ค.ศ. 1918 นักการศึกษาอเมริกันที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งคือ วิลเลียมคิลแพทริก (W.H. Kilpatrick) ได้เขียนบทความชื่อ วิธีสอนแบบโครงการ (The Project Method) เป็นผลให้หลักสูตรประสบการณ์ในรูปแบบของโครงการถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในชั้นประถมศึกษาแต่ในชั้นมัธยมศึกษาหลักสูตรนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าครูและผู้บริหารยังคงถูกอิทธิพลของหลักสูตรรายวิชาครอบงำอยู่
         อย่างไรก็ตาม หลักสูตรประสบการณ์ได้รับความนิยมอยู่ไม่นานก็ซบเซาไป ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาของหลักสูตรนี้มีมาก และปัญหาบางอย่างก็ยังแก้กันไม่ตก ดังจะได้กล่าวต่อไป
         สำหรับประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีสอนแบบโครงการในสถานศึกษาฝึกหัดครูก่อน พ.ศ. 2500 เสียอีก แต่ไม่ได้มีการจัดทำหลักสูตรโครงการขึ้นใช้ ได้มีการนำเอาวิธีสอนแบบโครงการมาทดลองใช้บ้างในบางที่บางแห่ง แต่ก็เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น
         2. ลักษณะสำคัญของหลักสูตร
                  1. ความสนใจของผู้เรียน เป็นตัวกำหนดเนื้อหา และเค้าโครงหลักสูตร ลักษณะข้อนี้หมายความว่า จะสอนอะไร เมื่อใด และจะเรียงลำดับการสอนก่อนหลังอย่างไรขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมที่ผู้เรียนกระทำเป็นกิจกรรมที่เขามองเห็นความจำเป็นและประโยชน์อย่างแท้จริงไม่ใช่สนใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานและไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่คิดเอาเองว่าเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ
         แนวความคิดของหลักสูตรนี้มีว่า เวลาที่ผู้เรียนทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ผู้เรียนย่อมหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำขึ้นลอย ๆ โดยปราศจากความมุ่งหมาย ความสนใจของผู้เรียนย่อมมีอยู่และเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาให้พบ แล้วใช้เป็นบันไดในการสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาแก่ผู้เรียน แนวความคิดนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรประสบการณ์ประกอบด้วยกิจกรรมอันจะนำไปสู่ความสนใจใหม่และกิจกรรมใหม่ต่อเนื่องกันไป อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ควรเอาใจใส่ก็คือความสนใจของผู้เรียน ในเรื่องนี้เราจะต้องระวังอย่าเอาไปปะปนกับสิ่งที่เขาเห่อหรือนิยมชมชอบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว พึงเข้าใจว่าความสนใจที่แท้จริงนั้นจะต้องประกอบด้วยจุดมุ่งหมายที่แน่นอนและเมื่อได้ทราบความสนใจที่แท้จริงแล้ว จึงใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอนต่อไป
         หลักที่ว่าแผนการสอนขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน ชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาวิชาเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะสนองความมุ่งหมายหรือความใฝ่ฝันของแต่ละบุคคลและของหมู่คณะ เป็นการตรงกันข้ามกับทัศนะดั้งเดิมที่ว่า ความมุ่งหมายและความสนใจของผู้เรียนเปรียบเสมือนเครื่องช่วยให้ผู้เรียนสามารถเป็นวิชาที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เรียนได้ดีขึ้น ในที่นี้เนื้อวิชามีประโยชน์ในการกำหนดลักษณะของกิจกรรมที่จะตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งหมายความว่าความรู้เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของผู้เรียน เป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของตนกล่าวคือ ในระหว่างที่ทำกิจกรรมนั้นผู้เรียนจะเกิดความต้องการความรู้ และเมื่อได้ศึกษาเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้เรียนสิ่งที่ต้องการ
         อย่างไรก็ตามปัญหาที่ผู้สอนยังต้องเผชิญอยู่ก็คือ จะทำอย่างไรกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งหมดในชั้น เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นหาความสนใจทั้งสองประเภทนี้เสียก่อนแล้วช่วยให้ผู้เรียนเลือกว่าอะไรคือความสนใจที่แท้จริง อะไรที่มีคุณค่าสำหรับส่วนรวมและแต่ละคนทั้งนี้เพื่อจะได้สามารถสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
                  2. วิชาที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน คือวิชาที่ผู้เรียนมีความสนใจรวมกัน ความสนใจรวมกันจะต้องอาศัยความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งพื้นฐานครอบครัว ซึ่งจะชี้ถึงค่านิยมละความสนใจของผู้เรียนด้วย เมื่อทราบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่สนใจอะไรก็นำเอามาจัดเป็นโปรแกรมการเรียนการสอนขึ้น
         การที่ต้องอาศัยความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก  ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างหลักสูตรประสบการณ์กับหลักสูตรรายวิชา และหลักสูตรแกน โดยที่เนื้อของหลักสูตรแบบหลังทั้งสองแบบจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่หลักสูตรประสบการณ์กำหนดเนื้อหาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นคราวๆ ไป นอกจากนี้หลักสูตรรายวิชายังอาศัยความรู้เป็นกรอบ และหลักสูตรแกนก็อาศัยปัญหาสังคมเป็นกรอบซึ่งต่างกับหลักสูตรประสบการณ์โดยสิ้นเชิง
                  3. โปรแกรมการสอนไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า  ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่า  ในหลักสูตรแบบนี้ผู้สอนไม่สามารถกำหนดกิจกรรมการเรียนไว้ล่วงหน้า  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้สอนไม่เตรียมตัวการสอนเลย  อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผู้เรียนต้องกระทำก่อนการสอนก็คือ การสำรวจความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนและทั้งชั้น  และช่วยผู้เรียนในการตัดสินใจว่าความสนใจเรื่องใดมีคุณค่าควรแก่การศึกษา อนึ่ง เมื่อลงมือสอนหน้าที่ของผู้สอนก็คือ การช่วยผู้เรียนว่างแผนกิจกรรมต่าง ๆ และช่วยในการประเมินผลกิจกรรมที่ทำไปแล้ว
                  4.  ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นหลักใหญ่ในการเรียนการสอน ดังได้กล่าวแล้วว่าในหลักสูตรประสบการณ์ผู้สอนและผู้เรียนรวมกันพิจารณาตัดสินว่าควรจะทำกิจกรรมอะไร จึงเห็นได้ว่านับตั้งแต่เริ่มแรกก็มีปัญหาต้องขบคิดกันแล้ว คือปัญหาที่ว่าจะทำอะไร  อย่างไร และเมื่อใด  จะต้องอาศัยอะไรเป็นเครื่องช่วยเพื่อให้การกระทำสำเร็จผล ปัญหาและอุปสรรคที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นการล่วงหน้ามีอะไรบ้าง ฯลฯ สิ่งดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าการสอนตามหลักสูตรประสบการณ์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย  ไม่ใช่เป็นการบอกวิชาแก่ผู้เรียนโดยตรง จริงอยู่การบอกวิชาอาจมีบ้างเป็นครั้งคราวแต่ไม่ใช่เป็นหัวใจของการเรียนการสอน  ถ้าผู้เรียนจะได้รับความรู้อะไรจากการบอกเล่าก็ควรเป็นในแง่ที่ความรู้นั้นจะช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมการแก้ปัญหาที่กำลังทำอยู่  คุณค่าของหลักสูตรไม่ได้อยู่ที่คำตอบที่ได้จากการแก้ปัญหา  แต่อยู่ที่ผลซึ่งผู้เรียนได้รับจากการที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหานั้น  โดยในดังกล่าววิชาจึงเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหา  และด้วยเหตุผลนี้หลักสูตรประสบการณ์จึงใช้วิชาเกือบทุกวิชาเข้าช่วย  สุดแท้แต่ว่าปัญหาจะพาดพิงถึงหรือต้องอาศัยวิชาใด ขณะเดียวกันผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้วิชาต่าง ๆ  และฝึกทักษะไปด้วยในระหว่างที่ทำการแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้และฝึกทักษะในเมื่อความสนใจได้เกิดขึ้นแล้ว
         3.  ปัญหาของหลักสูตรประสบการณ์
         ดังได้กล่าวแล้วว่าหลักสูตรประสบการณ์อาศัยความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก  ในการจัดเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอน  ดังนั้นจึงสร้างปัญหาแก่ผู้ใช้หลักสูตรอย่างมาก  ที่สำคัญคือ
                  1. ปัญหาการกำหนดวิชาในหลักสูตร  หลักสูตรประสบการณ์นำเอาแนวความคิดใหม่มาใช้  คือแทนที่จะคิดในรูปแบบของวิชาอย่างหลักสูตรรายวิชา  กลับมองความสนใจปัจจุบันของผู้เรียนเป็นหลัก  เมื่อเป็นดังนี้จึงเกิดปัญหาว่าผู้เรียนจะได้เรียนอะไร  การกำหนดเนื้อหาย่อมทำได้ยาก  ประสบการณ์ที่จัดให้ตามความสนใจอาจไม่ใช่ประสบการณ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นก็ได้นอกจากนี้การที่ยึดความสนใจเป็นหลักอาจเกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของประสบการณ์รวมทั้งความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาที่เรียนด้วย  ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งก็คือ  ครูหรือผู้สอนอาจเผลอนำเอาความสนใจของตนมาสรุปว่า  เป็นความสนใจของผู้เรียน  ถ้าหากเป็นดังว่าก็เท่ากับได้ทำลายหลักการของหลักสูตรนี้โดยสิ้นเชิง
                  2. ปัญหาการจัดแบ่งวิชาเรียนในชั้นต่าง ๆ ในการจัดแบ่งเนื้อหาในชั้นต่าง ๆ หลักสูตรประสบการณ์ใช้หลักเดียวกันกับหลักสูตรรายวิชา คือพิจารณาจากวุฒิภาวะ  ประสบการณ์เดิม  เนื้อหาวิชาที่เรียนมาแล้ว  ความสมใจประโยชน์และความยากง่ายของเนื้อหา  ข้อแตกต่างมีว่าหลักสูตรประสบการณ์ไม่ได้คิดเพียงการนำเอาเนื้อหาวิชามาเรียนลำดับกันเท่านั้น  แต่จะพิจารณาด้วยว่าเนื้อหาอะไรที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด  ปัญหานี้ยังหาคำตอบที่พอใจไม่ได้
         แรกทีเดียวก็เข้าใจกันว่า  การจัดแบ่งวิชาในชั้นต่าง ๆ  ตามแนวคิดของคิดของหลักสูตรประสบการณ์ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  เพราะตราบใดที่ผู้สอนและผู้เรียนมีอิสรเสรีในการเลือกกิจกรรมด้วยตัวเองแล้วปัญหาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น  ครั้นเมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับปรากฏว่ามีปัญหามาก เป็นต้นว่า  ไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชาระหว่างชั้นเรียนได้และบางทีก็มีการจัดกิจกรรมซ้ำ ๆ กันทุกปี  ได้มีการแก้ไขโดยการจัดทำตารางสอนของแต่ละปีขึ้นแต่ก็ไม่ได้ผล  เพราะตารางสอนเหล่านั้นเป็นเรื่องของเก่าไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าในปีใหม่ควรทำอะไรกัน



อ้างอิง : พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น