“curriculum” หมายถึง 1. รายวิชาต่าง ๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย
หรือมหาวิทยาลัย (all the different courses of study that are taught in a
school, college, or university e.g. the school curriculum) และ 2.
รายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (one
particular course of study is taught in a school, college, or university e.g.
the English curriculum)
“syllabus” หมายถึง หัวข้อเรื่องที่จะศึกษาในรายวิชาหนึ่งๆ (the subjects to
be studied in a particular course) จากความหมายข้างต้นนี้จะเห็นว่า
คำว่า “curriculum” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจะเหมาะกว่าคำว่า “syllabus”
ส่วนคำว่า “syllabus” จะใช้เมื่อหมายถึงประมวลการสอนในแต่ละรายวิชาซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด
เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
“หลักสูตร” เป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย
และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไปบางความหมายมีขอบเขตกว้างบาง
ความหมายมีขอบเขตแคบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่าง กันของบุคคลนั้น
ๆ ที่มีต่อหลักสูตร เช่น
กู๊ด (Good,1973:157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary
of Education) ว่า หลักสูตรคือ
กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการ
ศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่าง ๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา
หลักสูตรพลศึกษา
บ๊อบบิท (Bobbit,1918:42)ได้ ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือรายการของสิ่งต่าง ๆ
ที่เด็กและเยาวชน ต้องทำและมีประสบการณ์
ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวให้ดี
เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley
and Evans,1967:2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ
ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตามความสามารถของนักเรียน
โอลิวา (Oliva,1982:10) กล่าวว่า หลักสูตรคือ
แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
วีลเลอร์ (Wheenler,1974:11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า
มวลประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
โครว์ (Crow,1980:250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่า
หลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
เพื่อนักเรียนมีการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell
&Campbell,1935:69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum
Development ซึ่ง ตีพิมพ์ในปี 1935
โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า
“หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแล
การสอนของครู” แคสเวนและแคมป์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง
“ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู”
เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor&Alexander,1974:6)ได้ กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า
“เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ”
ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทาบา (Taba,1962:10)
ที่กล่าวไว้ว่า “หลักสูตรคือ
แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการ
จัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล”
เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver
and berlak,1968:9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ
กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่นเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump
and Miller,1973:11-12) กล่าวว่า หลักสูตรคือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่าง
ๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน
นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น
และความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการเช่น
สุมิตร คุณานุกร (2520,2-3)
ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ
คือหลักสูตรในระดับชาติและหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรระดับชาติหมายถึง
“โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ
สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้”
ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียนหมายถึง “โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนัก
เรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม
เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้”
ธำรง บัวศรี (2532:6)
ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมาย
การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2521:108)
เขียนในบทความเรื่อง “ข้อคิดเรื่องหลักสูตร” ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึง
มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียน เนื้อหาวิชาและทัศนคติ แบบพฤติกรรม
กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือ
ว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น
จากความหมายของหลักสูตรในลักษณะต่าง ๆ
ที่ได้ยกตัวอย่างของระดับความคิดของ
นักการศึกษาทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย
สามารถนำมาสรุปแนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของหลักสูตรเพื่อความเข้าใจที่
ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ดังนี้
1.
หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระนั้นหมายถึงวิชาและเนื้อหาสาระที่กำหนด
ให้ผู้เรียนต้องเรียนในชั้นและระดับต่าง ๆหรือกลุ่มวิชาที่จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น หลักสูตรเตรียมแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ หลักสูตรธุรกิจ หลักสูตรตัดเสื้อและหลักสูตรการเลี้ยงสุกร
จากอดีตตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรจนถึงปัจจุบันนี้
แนวคิดที่สำคัญของความหมายของหลักสูตรก็ยังคงเป็นวิชาและเนื้อหาวิชาที่ครู สอนให้
และนักเรียนใช้เรียนในสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ แม้จะได้มีความพยายามที่จะทำให้หลักสูตรมีความหมายที่กว้างและแตกต่างไปจาก
เดิมแต่แนวความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชา
และเนื้อหาที่จัดให้แก่ผู้เรียนก็ยังคงฝังแน่นและเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัด
หลักสูตร
2.
หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
กลุ่มหนึ่งจัดให้จัดให้อีกกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยจุดหมาย
หลักการ โครงสร้าง เนื้อหาสาระ อัตราเวลาเรียน กิจกรรมประสบการณ์
และการประเมินผลการเรียน
เพื่อให้ผู้เรียนมีรู้ความสามารถ มีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน
มีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร แนวคิดนี้จะเน้นหลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารเป็นรูปเล่ม
ซึ่งจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ เอกสารหลักสูตร และเอกสารประกอบหลักสูตร
เอกสารหลักสูตรเป็นเอกสารที่กล่าวถึงสาระของหลักสูตรโดยตรง คือกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักการ โครงสร้าง และเนื้อหาที่จัดไว้ในหลักสูตรนั้น ๆ เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช
2533) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกล
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น
ส่วนเอกสารประกอบหลักสูตร เป็นเอกสารที่อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง
ๆ
ของหลักสูตรเพื่อให้การนำหลักสูตรไปใช้ได้ผลตามความมุ่งหมาย ตัวอย่างเอกสารประกอบหลักสูตร ได้แก่ คู่มือหลักสูตร
คู่มือครูเกี่ยวกับหลักสูตร
แผนการสอนกลุ่มวิชาต่าง ๆ หรือคู่มือการประเมินผลการเรียน
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง
ๆ ที่จะให้แก่ผู้เรียน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง
ๆ ที่จัดให้แก่ผู้เรียนนี้เป็นการมองหลักสูตรในลักษณะของกิจกรรมต่าง ๆ
ที่ครูและนักเรียนจัดขึ้น
หรือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่าง ๆ
ที่เตรียมไว้และจัดให้แก่ผู้เรียนโดยโรงเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ประสบการณ์
และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด
กิจกรรมต่าง ๆที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะจะนำไปสู่ประสบการณ์ทางด้านความรู้
ความเข้าใจ เจตคติ ทักษะต่าง ๆ
อันแสดงถึงการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
กิจกรรมที่ควรจัดให้แก่ผู้เรียนจะต้องปรากฏอยู่ในหลักสูตรอย่างชัดเจน หลักสูตรหมายถึงกิจกรรมต่าง ๆที่จัดให้ผู้เรียน
4.
หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวัง
แก่นักเรียนนี้
จะเป็นแผนในการจัดการศึกษาเพื่อแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมตามที่กำหนด
แผนสำหรับจัดโอกาสทางการศึกษาจะแสดงเกี่ยวกับจุดหมายหรือจุดประสงค์ของการ ออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล
แผนนี้สร้างขึ้นตามประเภทสถานการณ์หรือกลุ่มบุคคลในระดับการศึกษาต่าง ๆ เช่น หลักสูตรก่อนวัยเรียน หลักสูตรประถมศึกษา หลักสูตรอุดมศึกษา หรืออาจหมายถึงกลุ่มของแผนย่อยต่าง ๆ
ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวัง
5.
หลักสูตรในฐานะที่เป็นมวลประสบการณ์
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์ของผู้เรียนนั้น หมายถึงประสบการณ์
ทุกอย่างของนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน รวมถึงเนื้อหาวิชาที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนด้วย
แนวคิดนี้เกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการหนึ่ง การไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของหลักสูตรในความหมายแคบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิด
พัฒนาการรอบด้านขึ้นในตัวผู้เรียน ประการที่สอง การสอนของครูที่ยึดหนังสือเรียนและเนื้อหาสาระมากเกินไปทำให้การสอนจืดชืด
ไม่มีชีวิตชีวา
โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ
เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด ได้กระทำ ได้แก้ปัญหา และค้นพบด้วยตนเอง
การจัดหลักสูตรจึงควรพิจารณาถึงประสบการณ์ ทุกด้านที่พึ่งมีของผู้เรียน
ความหมายของหลักสูตรตามแนวคิดนี้ครอบคลุมความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่อยู่ใน
ความรับผิดชอบโรงเรียนที่จัดให้แก่ผู้เรียน
เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
แนวคิดในความหมายของหลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นความหมายในแนวกว้างและสมบูรณ์
ที่สุด เพราะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน
6.
หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางนั้น
เป็นสิ่งที่สังคมมุ่งหวังหรือคาดหวังให้เด็กได้รับ กล่าวคือ ผู้ที่ศึกษาจนจบหลักสูตรไปแล้วจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างจะเกิดผลอย่างไรใน
ตัวผู้เรียนบ้าง
แนวคิดนี้มองหลักสูตรในฐานะที่ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวังที่จะ
เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ดังนั้น การจัดการหลักสูตร การกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล
จำต้องศึกษาและวางแผนให้สอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย
7.
หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนนั้น เป็นการมองหลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนการเตรียมโอกาสของการเรียนรู้สำหรับผู้
เรียนที่จัดขึ้นโดยโรงเรียน
หรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยรวมเอาแผนย่อย ๆ
ที่เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่คาดหวังเข้าไว้ด้วยกัน แผนงานนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างลอย ๆ แต่จะมีการวางแผนสำหรับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ
ดังนั้น
แผนงานจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่รับผิด
ชอบในการจัดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน
จากความหมายของหลักสูตรข้างต้นจะเห็นว่า ความหมายของหลักสูตรมีการขยายความหมายและเปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ยุคสมัยหรือกาลเวลา จะเห็นได้ว่า
แต่ละยุคแต่ละสมัย มนุษย์เล็งเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากการศึกษาต่าง ๆ กัน
2. ความเชื่อในปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษา
ความเชื่อปรัชญาที่เปลี่ยนไปทำให้ความหมายของหลักสูตรเปลี่ยนไป เช่น
ถ้าเชื่อในปรัชญาจิตนิยม และช่วงที่จิตวิทยายังไม่เข้ามามีบทบาททางการศึกษา
ความหมายของหลักสูตรก็คือเนื้อหาวิชาที่ให้เด็กเรียน
ต่อมาเมื่อมีความเชื่อในปรัชญาพิพัฒนาการนิยม และมีจิตวิทยาเข้ามามีบทบาททางการศึกษา
ความหมายของหลักสูตรก็เปลี่ยนเป็นกิจกรรมหรือมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัด
ให้แก่เด็ก
3. สภาพการดำรงชีวิต สังคม และวัฒนธรรม
ตลอดจนลัทธิการปกครองก็เป็นตัวกำหนดความหมายของหลักสูตรด้วยส่วนหนึ่ง
อ้างอิง
: พิจิตรา ธงพานิช. การพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม.
พิมพ์ครั้งที่ 5. นครปฐม :
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2556.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น